การพัฒนาตัวเองในทักษะที่บกพร่องควรเป็นความรับผิดชอบของพนักงานหรือบริษัทคะ
เป็นผู้บริหารบริษัทไซต์ขนาดไม่ใหญ่ค่ะเนื่องจากเป็นบริษัทแนวเทคโนโลยี อยากรู้มุมมองของเพื่อนๆที่เป็นเจ้าของธุรกิจในเรื่องการส่งเสริมพนักงานในการเรียนคอร์สออนไลน์ อยากรู้ว่ามักจะจ่ายเงินค่าเรียนคอร์สประเภทไหนบ้าง มีเกณฑ์การอนุมัติอย่างไรคะ เพราะเราอาจจะรู้ว่าคอร์สที่เป็นทักษะใหม่ๆ พิเศษ อย่าง UX , business analytic ก็ค่อนข้าง make sense เพราะเป็นอะไรที่ต้องต่อยอดขึ้นไป ไม่ได้มีในระบบการศึกษาอย่างแพร่หลาย แต่กับคอร์สพื้นฐานทั่วๆไป อย่างภาษาอังกฤษ นี่ควรจะอยู่ในขอบข่ายที่เราต้องรับผิดชอบมั๊ยคะ หรือเป็นหน้าที่เราที่ต้องสกรีนมาตั้งแต่แรก อันนี้จากปัญหาจริงที่พบว่าพนักงานบางคนยังขาดทักษะพื้นฐานเหล่านี้อยู่เลย
1 คำตอบ
- ปถิตา ชูพันธ์ดิลก (กิ๊ฟ)15 เมษายน 2021 20:41 น.สวัสดีค่ะคุณ orderlethargic
ความรับผิดชอบของการพัฒนาตนเองควรเป็นของใคร ? ระหว่างบริษัทหรือพนักงาน เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงค่ะ จากงานวิจัยล่าสุดของ Deloitte พบว่าผู้ตอบแบบสำรวจของ 2020 Deloitte Global Human Capital Trends 54% เท่านั้นที่คิดว่าความสำเร็จของการพัฒนาเป็นบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ตัวเลขส่วนที่เหลือคิดว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องสนับสนุนพนักงาน จากสถานการณ์ที่คุณ orderlethargic เล่ามานั้น ขอแบ่งทักษะออกเป็น 3 หมวดดังนี้ค่ะ
1) ทักษะที่ขาดไม่ได้ (ไม่มีแล้วทำงานหรือทำหน้าที่นั้นไม่ได้) บริษัทต้องหาวิธีในการค้นหาผู้สมัคร ทำการคัดเลือกและทดสอบหรือทดลองเพื่อให้มั่นใจว่าเราได้คน "ที่ทำงานได้" จริง ๆ (และเราก็มีเวลาพิสูจน์อีก 120 วัน) เช่นหากงานนั้นต้องการคนที่ได้ภาษาอังกฤษ ต้องกำหนดเกณฑ์คะแนนภาษาอังกฤษตั้งแต่รับสมัคร
2) ทักษะที่บกพร่อง (มีอยู่ แต่ไม่เต็ม 100 %) หมายความว่าหากพนักงานเติมเต็มทักษะนี้จะสามารถเร่งหรือพัฒนาผลงาน (Performance) ได้ดียิ่งขึ้น เช่น เชี่ยวชาญขึ้น ทำเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งวิธีการพัฒนาทักษะประเภทนี้อาจไม่ใช่เพียงการเรียนออนไลน์อย่างเดียว บริษัทต้องวิเคราะห์ว่าต้องใช้วิธีใดในการพัฒนาที่จะเหมาะสม เช่น การ assign project ให้ทำ การ Rotate งาน การอบรมหรือสัมมนาภายนอก การเรียนด้วยตนเอง
จากโมเดลการพัฒนาเรียนรู้แบบ 70:20:10 เชื่อว่ารูปแบบที่จะทำให้คนเรียนรู้แล้วเกิดสัมฤทธิ์ผลที่สุดคือ 70% ซึ่งก็คือ Experimental Learning / On the Job Experience การพัฒนาด้วยวิธีการนี้อาจไม่ได้ใช้เงินจำนวนมากในระยะสั้น แต่เป็นการพัฒนาที่ใช้เวลาหากจำเป็นที่บริษัทจะต้องลงทุนหรือสนับสนุนก็ควรพิจารณาให้ตามความเหมาะสม
3)ทักษะต่อยอด เช่น ทักษะใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมี การเข้าถึงเทรนด์ของทักษะใหม่ บริษัทควรพิจารณาความจำเป็นของทักษะต่อยอดประเภทนี้ว่า
3.1 ทักษะนี้มีความจำเป็น (ในอนาคต) สำหรับของธุรกิจองค์กรหรือไม่ พนักงานกลุ่มไหนที่ถูกจัดลำดับให้ต้องมีทักษะกลุ่มนี้ก่อน
3.2 มีวิธีการเข้าถึงทักษะใหม่ ๆ นี้อย่างไรบ้าน (ควรค้นคว้าและหาหลายๆ ช่องทาง หลายๆ ทางเลือกทั้งฟรีและเสียเงิน)
3.3 หากบริษัทสนับสนุนงบประมาณให้พนักงานกลุ่มจำเป็นได้เรียนรู้ก่อน จะมีวิธีการสกัด จัดเก็บ เผยแพร่ ความรู้นี้ให้คนอื่นๆ ในองค์กรอย่างไร
อ่านเรื่องโมเดลการเรียนรู้และพัฒนาสูตร 70:20:10 เพิ่มเติมที่ https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/190620-model-70-20-10/
โดยสรุปหากองค์กรจะต้องกำหนดเกณฑ์อนุมัติให้พนักงานเรียนรู้ในส่วน Self Learning (Online-offline) หรือ Public Learning
สามารถ apply ประเภทของทักษะตาม 3 ข้อด้านบนได้ค่ะ
บริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายเรียนออนไลน์แบบไหนบ้าง ? รูปแบบของคอร์สออนไลน์ในยุคนี้ก็มีความหลากหลายน่าสนใจ เช่น
1) Short course เรียนผ่านการฟังหรือดูวิดิโอคลิปที่จัดทำไว้แล้ว (ไม่ interactive) จำนวนชั่วโมงไม่นาน ทั้งที่มีระยะเวลากำหนดและเรียนได้ตามความเร็วและความสะดวกของผู้เรียน วัดผลด้วยการสอบหรือการวัดความรู้ความเข้าใจ
2) Blended course ผสมผสานระหว่างการเรียนผ่านการฟังหรือดูวิดิโอคลิปที่จัดทำไว้แล้วผสมกับการการพูดคุยกับผู้สอนหรือผู้เรียนท่านอื่นๆ และการทำการบ้านหรืองานโปรเจคระหว่างเรียนเพื่อเป็นการทบทวนความรู้และฝึกปฏิบัติจริง
3) Certified course รูปแบบหลากหลายขึ้นกับสถาบัน แต่มีการสอบ วัดผลและให้การรับรองทักษะ (certified)เพื่อเป็นรับรองว่าคนที่จบจากการเรียนคอร์สประเภทนี้สามารถแสดงออกซึ่งทักษะที่ได้เรียนมาอย่างมีประสิทธิภาพ (อารมณ์ว่ามีคนมาการันตีให้)
4) Certified Master, Certified Trainer คล้ายประเภทที่สาม ให้การรับรอง (certified) ว่าผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญขั้นที่สูงขึ้น จนสามารถเป็นผู้ที่ไปสอนผู้อื่นต่อได้0ขอบคุณสำหรับข้อมูล
คุณเห็นด้วยกับนโยบายความเป็นส่วนตัว
และได้ศึกษาข้อตกลงในการใช้งานของ HR NOTE ก่อนเข้าใช้ระบบสมาชิก
มีบัญชีอยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบ