จะทำอย่างไรไม่ให้พนักงานอิจฉากันเองเมื่อต้องโปรโมทบางคนขึ้นมาเป็นหัวหน้า

ตอนนี้ทำงานอยู่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลในบริษัทขนาดกลางที่มีพนักงานร้อยกว่าคนนะคะ ตอนนี้ตัว manager กำลังจะมีการลาออกไปทำงานที่ใหม่ ฝ่ายบริหารก็มีการคุยกันแล้วว่าเลือกที่จะโปรโมทพนักงานปัจจุบันขึ้นมาทำตำแหน่งนี้แทนเพราะว่าเรารู้เรื่องอุปนิสัย ความสามารถ และการเข้ากันได้ของทีมอย่ก่อนแล้ว ไม่ต้องเสี่ยงไปรับผู้จัดการภายนอกที่เรายังไม่รู้จักดีเข้ามา 

แต่ปัญหาคือเราจะได้ยินมาบ่อยมากว่าการเลือกโปรโมทในลักษณะนี้เป็นเรื่องยากที่เราจะบริหารจัดการด้านความรู้สึกของพนักงานทุกฝ่ายให้ออกมาอย่างไร้ปัญหาร้อยเปอร์เซ็นเพราะคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการก็เคยเป็นเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกันมาก่อน กลัวว่าจะเกิดปัญหาเรื่องความ “อิจฉา” ระหว่างพนักงานขึ้นมา 

รวมถึงคนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งก็อาจจะรู้สึกไม่สบายใจเท่าไหร่ที่จะต้องบริหารจัดการคนที่เคยทำงานเป็นเพื่อนร่วมงานกันมาก่อน นี่แหละค่ะสิ่งที่กังวลใจ เลยอยากถามว่ามีคำแนะนำไหมคะที่จะทำให้การเลื่อนตำแหน่งครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา

คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

1 คำตอบ

  • สวัสดีครับ

    ปัญหาเรื่องนี้ไม่ว่าที่ไหนก็สามารถเกิดขึ้นได้ครับ และถึงแม้จะมีการว่าจ้างจากข้างนอกเข้ามา ก็ไม่วายเกิดขึ้นไม่มากก็น้อยอยู่ดี สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆในการเลื่อนขั้นคนในให้เป็นหัวหน้างานมีดังนี้(ซึ่งจากที่อ่านเขาใจว่าทำไปแล้วนะครับ)
    • ความสามารถ(Performance) คือคุณสมบัติที่เหมาะจะได้รับการเลื่อนขั้นเพื่อรับงานที่มากขึ้นต้องเหมาะสม เพื่อให้สามารถรองรับงานได้
    • ภาพลักษณ์(Image) ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือแม้แต่ลูกน้องที่เคยมีต้องดีพอ
    • ความเข้าถึง(Exposure) ผู้บริหารหรือหัวหน้าใหญ่รู้จักหรือเคยได้ยิน ได้เห็นผลงานผ่านตามาบ้าง
    ถ้าหาก 3 ข้อนี้มีครบ การเลื่อนขั้นก็เป็นความเหมาะสมที่คนๆนั้นๆควรได้

    ------------------------------------------

    ปัญหาที่อาจเกิดตามมาคือเรื่องการนินทาหรือความอิจฉาอย่างที่เจ้าของกระทู้กังวล สิ่งแรกที่ต้องยืนยันคือ สิ่งเหล่านี้มีในองค์กรจริงหรือไม่? ถ้าไม่มีก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง มันอาจไม่ได้แค่กระทบเหยื่อเพียงคนเดียว แต่กระทบวัฒนธรรมองค์กรในภาพรวมด้วย ดังนั้นเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ผมแนะนำหลักปฏิบัติคร่าวๆคือ
    1. สื่อสารให้ชัดเจน(Clear Communication) ว่าคนที่ได้รับการเลื่อนขั้น เพราะอะไรถึงได้? <- ดูเหมือนจะพูดง่าย แต่ไม่ง่ายเลย วิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดคืออ้างอิงผลงานที่จับต้องได้ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจได้จริง หากสามารถระบุทักษะที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงจากคนๆนี้หรือตำแหน่งนี้จะยิ่งทำให้ยอมรับได้ง่ายขึ้น
    2. สร้างความสัมพันธ์ในองค์กร(Network Relationship) ยิ่งรู้จักหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในองค์กร จะช่วยให้เราในฐานะฝ่ายบุคคลรับรู้ข่าวคราวและสถานการณ์ของคนได้ไวขึ้น ถ้าหากมีการนินทาว่าร้ายหรืออิจฉาเกิดขึ้น จากคนเดิมๆหรือไม่? มีใครที่เป็นระดับขั้นสูงกว่าสามารถยืนยันได้ไหม? ถ้ามีก็สามารถดำเนินการทางวินัยได้
    3. สร้างวัฒนธรรมการชื่นชมจดจำ(Praise & Recognition) การเลื่อนขั้นก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการชื่นชมจดจำ แต่หากเราสร้างวัฒนธรรมนี้ที่แสดงออกด้วยรูปแบบอื่นๆ เช่น การชื่นชมในห้องประชุม การส่งของขวัญชื่นชมความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ การจดจำโอกาสวันพิเศษ ก็จะช่วยให้ผู้คนรู้สึกเติมเต็มในการทำงานมากขึ้น เพราะพวกเขารู้ว่าถ้าทำได้ดีพอจะได้รับการจดจำ ในที่นี้คือการเลื่อนขั้นนั่นเอง
    4. สร้างความแตกต่าง(Create Distinctiveness) แต่ละคนมีความสามารถไม่เหมือนกัน การแนะนำ Career Path ให้คนอื่นๆเพื่อให้พวกเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ก็เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความหลากหลายทางเป้าหมายในองค์กรได้ เพราะในความเป้นจริงแต่ละสายอาชีพก็อาจจะใช้เวลาในการเรียนรู้ไปอีกขั้นไม่เท่ากัน หรือก็คือ แต่ละอาชีพอาจมีเวลาในการเลื่อนขั้นไม่เท่ากัน แม้จะในแผนกเดียวกันก็ตาม การสร้างความแตกต่างระหว่างบุคคล จะช่วยลดการเปรียบเทียบได้ดี และช่วยให้พวกเขาทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น
    หวังว่าจะเป็นประโยชน์และนำไปใช้ได้จริงไม่มากก็น้อยนะครับ ถ้าหากมีคำถามเพิ่มเติมก็สามารถ Comment มาได้ครับ
    0

    คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

    ขอบคุณสำหรับข้อมูล

อันดับผู้ให้ข้อมูล