อะไรจะเกิดขึ้นบ้างถ้าบริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่อง Culture

vulcancistus
vulcancistus
10 มีนาคม 2021 16:28 น.
อยากให้ช่วยแชร์ผลลัพธ์จริงๆ ที่ท่านอื่นๆ เคยได้รับจากโปรเจกที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมองค์กร ทั้งนี้เพื่อนำไปใช้สื่อสารโน้มน้าวให้ผู้เกี่ยวข้องรู้สึก Buy-in  และให้ความสนับสนุนในการเริ่มทำได้ค่ะ

คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

3 คำตอบ

  • Pisara Lumpukdee (Vandy)
    Pisara Lumpukdee (Vandy)
    12 มีนาคม 2021 17:38 น.
    ต้องขอเกริ่นก่อนว่าเนื้อความส่วนล่างนี้ถูกตัดตอนมาจากหนังสือ “วัฒนธรรมองค์กร พลังขับเคลื่อนสู่เส้นชัยในยุค 4.0” ที่เคยเขียนไว้นะคะ ซึ่งอาจจะยานิดนึงแต่เชื่อว่าน่าจะตอบได้ค่อนข้างครอบคลุมแน่นอนค่ะ

    วัฒนธรรมองค์กร(ซึ่งอยู่ในรูปค่านิยมองค์กรก็ดีหรือเรียกว่าหลักปรัชญาองค์กรก็ดี)สามารถหล่อหลอมและนำไปสู่พฤติกรรมร่วมของคนในกลุ่มจนก่อให้เกิดผลลัพธ์ขององค์กรได้ ส่วนวัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพองค์กร(efficiency enhancement) ให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง อาจแบ่งได้เป็นข้อดังนี้

    1. วัฒนธรรมองค์กรสามารถสร้างความพึงพอใจในการทำงาน (impact on employee satisfaction) ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรทั้งในแง่คุณภาพ (quality) ปริมาณ (quantity/productivity) และผลประกอบการโดยรวม (financial statements) ขององค์กร ซึ่งความพึงพอใจในการทำงานที่มีผลต่อองค์กรมีหลายด้าน โดยอาจสรุปได้ดังนี้

    1.1. ความพึงพอใจในการทำงานทำให้อัตราการลาออก (turnover rate) ลดน้อยลง กล่าวคือ เมื่อพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานแล้วก็จะไม่เปลี่ยนองค์กรหากแรงจูงใจขององค์กรอื่นไม่มากพอ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความพึงพอใจในการทำงานมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความภักดีต่อองค์กร (employee loyalty) นั่นเอง ซึ่งในประเด็นนี้ส่งผลดีต่อองค์กรคือ ลดค่าใช้จ่ายเรื่องการสรรหาทรัพยากรบุคคล (recruitment) และการฝึกอบรมพนักงานใหม่ (training course, on-boarding program, orientation session) โดยสรุปความพึงพอใจในแง่นี้มีผลต่อตัวเลขผลประกอบการขององค์กร

    1.2.ความพึงพอใจในการทำงานทำให้ลดอัตราการขาดงาน (absenteeism rate) หลายครั้งที่พนักงานไม่มีความสุขหรือไม่มีความพึงพอใจกับการทำงานหรือกับองค์กร ก่อให้เกิดความไม่อยากมาทำงาน จึงมักเกิดการลาตามสิทธิ์ เช่นลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน โดยองค์กรไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ความพึงพอใจในแง่นี้จึงมีผลต่อปริมาณของงาน หรือผลผลิต (productivity)

    1.3. ความพึงพอใจในการทำงานทำให้เกิดความกระตือรือร้น อยากที่จะเรียนรู้ (self-development) เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง (continuous improvement) ซึ่งทำให้ผลงานออกมามีคุณภาพ หรือหากเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี อาจก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆหรือมีการยกระดับผลงานให้มีความก้าวหน้าขึ้นพร้อมเป็นแนวหน้าในการตลาด ดังนั้น ความพึงพอใจในแง่นี้จึงมีผลต่อคุณภาพ(quality) ของงาน

    1.4. ความพึงพอใจสามารถนำไปสู่ความรู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร (Engagement) เมื่อใดก็ตามที่พนักงานหรือสมาชิกขององค์กรรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแล้ว ก็เสมือนรู้สึกว่าตนเป็นสมาชิกในครอบครัว การทำงานจึงเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกดีๆ หรือที่เรียกกันในภาษาพูดว่า “ทำด้วยใจ” และผลของการทำงานที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกดังกล่าวมักจะทำให้ผลงานออกมาดีด้วย อาจจะเป็นทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณก็เป็นได้

    2. วัฒนธรรมองค์กรสามารถสร้างความแตกต่างหรือความเป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) ให้กับองค์กรและพนักงานความแตกต่างหรือเอกลักษณ์ขององค์กรนี้มักทำให้พนักงานหรือสมาชิกองค์กรเกิดความภูมิใจว่าองค์กรของตนมีความโดนเด่นและสามารถดำเนินงานได้ในแบบที่ไม่เหมือนใครแต่ยังคงให้ผลผลิตที่ดี ตอบโจทย์ลูกค้าหรือผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการในสังคมได้ เนื่องด้วยผู้ประกอบหรือผู้บริหารองค์กรมีความเข้าใจและเล็งเห็นความสำคัญถึงวัฒนธรรมองค์กรเพิ่มขึ้น องค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ได้ดีและมักเป็นที่พูดถึงจึงมีมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้จากตัวอย่างที่เป็นกรณีศึกษาในบทก่อนหน้านี้

    ทั้งนี้ วัฒนธรรมองค์กรสามารถสร้างความเป็นเอกลักษณ์ได้ใน 2 ระดับ คือ

    2.1. ระดับพนักงาน 
    เมื่อพนักงานรู้สึกดี เห็นคล้อยและอยากปฏิบัติตามวัฒนธรรมองค์กร นำไปสู่ความมีตัวตนของพนักงาน และความมีตัวตนคือสิ่งที่ทำให้พนักงานภูมิใจในองค์กร ตลอดจนการสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ความเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรนี้ (sense of belonging) จะนำมาซึ่งความรับผิดชอบต่อองค์กร (ownership and responsibility) และขยายผลเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนร่วมงานในการปฏิบัติตามค่านิยมองค์กรอีกด้วย (Identity and Sense of Belonging) เช่น องค์กรที่มีนโยบายแต่งกายตามสบายทุกวันศุกร์ (Casual Friday หรือ Friday Dress Down ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในหลายองค์กรในปัจจุบัน) ถ้าพนักงานรู้สึกดีและเห็นด้วยก็จะปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ และเมื่อมีผู้พบเห็นก็อยากแสดงตัวตนว่าเป็นสมาชิกขององค์กรนี้จึงมีการปฏิบัติแบบนี้ และรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เป็นต้น

    2.2. ระดับองค์กร 
    เอกลักษณ์ขององค์กรนั้น สามารถสร้างการรับรู้ในสังคม (brand awareness) ได้ โดยธรรมชาติความแตกต่างหรือเอกลักษณ์นั้นย่อมเป็นจุดสนใจ ดังนั้นการรับรู้ของสังคมต่อองค์กรจึงเกิดขึ้นได้ง่ายจากการสร้างเอกลักษณ์ และหากเอกลักษณ์เกิดจากวัฒนธรรมที่ดี สังคมในวงกว้างก็จะพูดถึงองค์กรในทางที่ดีซึ่งจะทำให้องค์กรเป็นที่รู้จักมากขึ้นและนำไปสู่ผลทางการตลาดเชิงบวกขององค์กรได้ และในทางกลับกัน หากความโดดเด่นเกิดจากวัฒนธรรมที่ไม่ดี ก็อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบในวงกว้างได้เช่นกัน

    3.วัฒนธรรมองค์กรที่ดีสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูงได้ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาขององค์กรทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ (Impact on Recruitment and Selection)
    จากที่กล่าวมาแล้วว่า วัฒนธรรม หากเป็นไปในทางที่สมาชิกขององค์กรปรารถนาและมีความเป็นเอกลักษณ์ในเชิงบวก ย่อมทำให้เกิดความพึงพอใจและความภูมิใจของสมาชิกในองค์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผลลัพธ์ขององค์กรในเชิงบวกด้วย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวไม่ได้หยุดอยู่หรือจำกัดอยู่ในเฉพาะสมาชิกในองค์กรเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความสนใจและเป็นที่พูดถึงของคนภายนอกองค์กรด้วย กล่าวคือ เอกลักษณ์ (uniqueness)ขององค์กร และวัฒนธรรมที่ดีสามารถนำไปสู่การรับรู้หรือการเป็นที่รู้จักในสังคมขององค์กร(brand awareness)ด้วย 

    หลายครั้งที่มีการทำสำรวจทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศเกี่ยวกับองค์กรที่นักศึกษาใฝ่ฝันอยากทำงานด้วยมากที่สุดเมื่อเรียนจบ (dream companies) หรือองค์กรที่คนชื่นชมหรืออยากร่วมงานมากที่สุด (most admired companies) เป็นจุดบ่งบอกให้รู้ว่าองค์กรที่เป็นที่นิยมเหล่านั้นย่อมมีความสามารถในการดึงดูดบุคลากร และแน่นอนที่สุดการมีผู้สนใจที่จะร่วมงานเป็นจำนวนมากนั้นก็หมายถึงทางเลือกขององค์กรที่จะเลือกคนที่มีทักษะความสามารถ มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการเรียนรู้ และตรงกับความต้องการขององค์กรที่สุดได้มากกว่าองค์กรอื่น ซึ่งสุดท้ายแล้ว การมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและตรงต่อความต้องการ ซึ่งเป็นเสมือนปัจจัยเริ่มต้นหรือปัจจัยการผลิต (inputs) ที่ดีย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ (outputs) ที่ดีนั่นเอง และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่องค์กรที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของโลกในยุคปัจจุบัน ดังตัวอย่างต่างๆที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้อย่างบริษัทอัลฟาเบท  ที่มีวัฒนธรรมโดดเด่นและแตกต่างจากบริษัททั่วไปจนกลายเป็นบริษัทที่คนอยากร่วมงานมากที่สุดแห่งหนึ่ง(จากการสำรวจของหลายองค์กรในอเมริกา) จึงเป็นโอกาสให้บริษัทมีสิทธิ์ที่จะเลือกคนที่มีทักษะความสามารถได้ตรงกับความต้องการมากกว่าบริษัทอื่น หรือ บริษัท Netflix ที่มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นในการมองการบริหารองค์กรเหมือนทีมกีฬาก็สามารถดึงดูดคนที่ชื่นชอบแนวคิดหรือวัฒนธรรมแบบนี้ให้มาร่วมงานกับองค์กรได้ และนี่เป็นอีกเหตุผลที่บริษัทอัลฟาเบท และ Netflix สามารถสร้างนวัตกรรมและผลกำไรให้กับองค์กรได้อย่างมหาศาลอย่างต่อเนื่อง

    4. วัฒนธรรมองค์กรสามารถสร้างชื่อเสียง (reputation) และความน่าเชื่อถือ (reliability) และนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน (sustainable growth) ขององค์กรได้
    การที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีเป็นที่ชื่นชมของสังคม ไม่เพียงแต่จะสามารถทำให้สมาชิกองค์กรหรือบุคลากรในองค์กรเกิดความภูมิใจ รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจนมีความผูกพันต่อองค์กร(engagement) มีความพึงพอใจจนสร้างผลกระทบเชิงบวกตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่วัฒนธรรมหรือค่านิยมองค์กรที่ดียังสามารถสร้างความนิยมชมชอบ (admirability) จนนำไปสู่ความน่าเชื่อถือ (reliability) และชื่อเสียงขององค์กร (reputation) ในท้ายที่สุดด้วย กล่าวคือ หากค่านิยมหรือวัฒนธรรมองค์กรชี้นำความคิดและการกระทำในทางที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น และสังคมโดยรวมแล้ว ก็จะทำให้องค์กรได้รับความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่า องค์กรจะมีความต่อเนื่องทางธุรกิจ (business continuity) และผลลัพธ์สุดท้ายของความเชื่อมั่นจากหลายฝ่ายเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ชื่อเสียง (reputation) และการเติบโตที่ยั่งยืน (sustainable growth) ขององค์กรได้ 
    ในปัจจุบันมีหลายตัวอย่างที่การประท้วงจากพนักงาน การวิพากวิจารณ์หรือความไม่พึงพอใจจากลูกค้า หรือการคว่ำบาตรจากคู่ค้าแล้วทำให้เกิดการเสียหายต่อชื่อเสียงและผลประกอบการทางธุรกิจอย่างประเมินค่าไม่ได้ และต้องใช้เวลามากมายในการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนจะช่วยให้ลดความเสียหายดังกล่าวได้

    กล่าวโดยสรุปแล้ว วัฒนธรรมองค์กรมีผลชัดเจนในหลายด้านต่อประสิทธิภาพขององค์กรทั้งในแง่คุณภาพ ปริมาณ ภาพลักษณ์ และความเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่เทคโนโลยีก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดและมีผลต่อกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบในหลายๆด้านของชีวิตมนุษย์และธุรกิจขององค์กร วัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจและการดำเนินงานขององค์กรและปริบทของสังคมและเศรษฐกิจจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จขององค์กรได้
    0

    คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

    ขอบคุณสำหรับข้อมูล
  • สิ่งดีๆที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมจะเกิดขึ้นค่ะ เมื่อองค์กรหันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรม และสร้างให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว พนักงานจะมีรูปแบบการทำงานที่เป็นแบบแผน และส่งต่อค่านิยมหลัก ร่วมกัน สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือผลการทำงานจะดีขึ้น สืบเนื่องมาจากการสร้างวัฒนธรรมการทำงานในรูปแบบที่องค์กรพึงปรารถนา เกิดการร่วมมือร่วมใจ เกิดการผสานงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน ส่งผลให้ผลการทำงานในภาพรวมดีขึ้น ในส่วนของนามธรรมคือความผูกพันและความสุขจะเกิดขึ้นกับพนักงาน เพราะพนักงานจะทำงานแบบที่รู้สึกว่าเขาได้สร้างคุณค่า สานต่อวัฒนธรรมการทำงานที่ดี สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และจะเกิดความยั่งยืนในการบริหารและดูแลบุคลากร
    0

    คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

    ขอบคุณสำหรับข้อมูล
  • ในมุมขององค์กร หากวาง Culture ได้เหมาะสม จะส่งผลต่อ performance ภาพรวมในการทำงาน เพราะพนักงานทุกคน รู้ว่าควรจะปฏิบัติตน ตัดสินใจ ไปในแนวทางไหน การทำงานในส่วนต่างๆจะ สอดประสานกันมากขึ้น ถือเป็นผลด้านกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่าง จากการมีค่านิยมที่ชัดเจน เช่น ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย บางบริษัทต้องการความไว, หรือบางที่เป็นเรื่องความถูกต้อง เมื่อมีวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจนแล้ว ทุกคนจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน 
    ในแง่มุมของ HR เครื่องมืออย่างวัฒนธรรม จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับการต้องไปกำหนดกฎที่มีความตายตัว และควบคุม หรือลงโทษกับคนที่ไม่ทำตาม เพราะวัฒนธรรม ส่งเสริมให้คนคิดเพื่อเป้าหมายเดียวกัน และส่งเสริมให้แต่ละคน คิด ปฏิบัติเองตามค่านิยมเหล่านั้น ถือเป็นเรื่องที่ให้ประโยชน์ในการสร้างองค์กรในหลายแง่มุมเลยครับ
    performance ภาพรวมในการทำงาน 

    เพราะพนักงานทุกคน รู้ว่าควรจะปฏิบัติตน ตัดสินใจ ไปในแนวทางไหน การทำงานในส่วนต่างๆจะ สอดประสานกันมากขึ้น สร้างความแตกต่างเชิงกลยุทธ์  จากการมีค่านิยมที่ชัดเจน
    0

    คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

    ขอบคุณสำหรับข้อมูล

อันดับผู้ให้ข้อมูล