อยากทราบค่าบอกกล่าวล่วงหน้าค่ะ ว่าเริ่มนับล่วงหน้า 1 เดือนหรือต้องดูรอบการจ่ายค่าจ้างคะ

กรณีเลิกจ้างพนักงานที่ทำงานมา 2 ปี โดยบริษัทแจ้งวันที่ 12 มิ.ย. และให้มีผลสิ้นสุดการเป็นพนักงาน 18 มิ.ย. (มาทำงานวันสุดท้าย) ทางบริษัทตกลงจ่ายค่าชดเชย 90 วัน + ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน + ค่าจ้างเดือนสุดท้ายตามวันทำงาน 18 วัน แต่ลูกจ้างมาเรียกร้องค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็น 1 เดือน 12 วัน โดยอ้างว่าโทรไปสอบถามกระทรวงแรงงาน ตรงนี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร

คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

1 คำตอบ

  • เรื่องนี้น่าสนใจมากครับ สำหรับการนับวันบอกกล่าวล่วงหน้า  แต่ก่อนจะวินิจฉัยและให้คำตอบ

    ขอพาไปทำความเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบอกกล่าวล่วงหน้ากันก่อนครับ 
    การบอกกล่าวล่วงหน้า กรณีเลิกจ้างพนักงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 17 วรรคสอง ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า …
    ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้าง อาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ 

            วรรคสาม การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้
            มาตรา 17/1 ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบตามมาตรา 17 วรรคสอง ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับนับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลตามมาตรา 17 วรรคสอง โดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน

            พออ่านถึงตรงนี้ ทุกท่านจะพบว่า ในกฎหมายไม่มีข้อความตอนใดเลย ที่บอกว่า การบอกกล่าวล่วงหน้า ต้องบอกกล่าว 1 เดือน หรือต้องบอกกล่าว 30 วัน 
    การที่บริษัทเข้าใจว่าการบอกกล่าวล่วงหน้าต้องบอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบ 1 เดือนหรือ 30 วัน ล้วนเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง ต้องปรับความเข้าใจใหม่ เพราะบริษัทอาจต้องเสียเงิน(ฟรี) กับความไม่รู้กฎหมาย 

            คราวนี้มาทำความเข้าใจกันใหม่ครับ เมื่อถอดถ้อยคำหลักกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17  การบอกกล่าวล่วงหน้าที่ถูกต้อง  นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ “ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้” 
    อ่านแล้วก็งง นั้นขอยกตัวอย่างง่ายๆแบบนี้ครับ

            ประการแรก ให้ตรวจสอบก่อนครับ ว่าบริษัทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่เท่าไหร่ ย้ำว่า !!! วันจ่ายค่าจ้างครับ ต้องดูรอบวันจ่ายค่าจ้างเป็นสำคัญ ไม่ใช่วันตัดรอบเงินเดือน โดยส่วนมากที่พบเจอก็จะกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน หรือ ทุกวันสิ้นเดือน 
    พอทราบและเข้าใจคำว่า “กำหนดจ่ายค่าจ้างแล้ว” 

            คร่าวนี้มาพิจารณาตามคำถามครับ 
    บริษัทแจ้งบอกกล่าวล่วงหน้าวันที่ 12 มิถุนายน และให้ออกวันที่ 18 มิถุนายน นายจ้างจ่ายค่าบอกกล่าว 1 เดือน แต่ลูกจ้างเรียกร้องค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 12 วัน สิ่งที่ลูกจ้างเรียกร้องถูกต้องหรือไม่ ???

            จากคำถามแม้จะไม่ได้บอกกำหนดจ่ายค่าจ้างมาเลย แต่ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า บริษัทจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน 
            ดังนั้น ถ้าบริษัทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน แต่บอกกล่าวล่วงหน้า วันที่ 12 มิถุนายน และให้ออก 18 มิถุนายน เท่ากับว่า นายจ้างบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ถูกต้อง 
            เพราะที่ถูกต้องคือ หากนายจ้างแจ้งบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบว่าจะถูกเลิกจ้าง วันที่ 12 มิถุนายน ตามกฎหมายจะมีผลเป็นการแจ้งบอกกล่าวล่วงหน้า ในรอบกำหนดจ่ายค่าจ้างวันที่ 30 มิถุนายน (วันสิ้นเดือน) (กำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด)        หากนายจ้างจะไม่เสียค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเลย นายจ้างจะต้องให้การเลิกจ้างมีผล สิ้นสุดสัญญาจ้างในวันที่ 31 กรกฎาคม (วันสิ้นเดือน) ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป แต่หากนายจ้างเลือกให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม (วันสิ้นเดือน) นายจ้างจะต้องเสียค่าบอกกล่าวล่วงหน้า คำนวณตามระยะเวลารายวันให้แก่ลูกจ้างครับ

    ตอบคำถาม เมื่อนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานวันที่ 18 มิถุนายน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ของตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน ถึงวันสิ้นเดือน คือ วันที่ 30 มิถุนายน (คำนวณได้ 12 วัน) และของวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ( เทียบเท่าอัตราเงินเดือน 1 เดือน)

            เมื่อคำนวณรวมวันกันแล้ว จึงได้เท่ากับ 1 เดือน 12 วัน เมื่อนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพียง 1 เดือน นายจ้างจึงจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขาดไปเป็นจำนวน 12 วัน การที่ลูกจ้างโต้แย้งว่านายจ้างจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ขาดไป 12 วัน จึงถูกต้องตามที่ลูกจ้างแจ้งมาครับ 


    0

    คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

    ขอบคุณสำหรับข้อมูล

อันดับผู้ให้ข้อมูล