บริษัทจะวัด Productivity ระหว่าง WFH อย่างไร โดยเปรียบเทียบกับ การทำงานที่ออฟฟิศเเบบไหนได้งานกว่ากัน

agencyinch
agencyinch
18 มีนาคม 2021 11:05 น.
เวลาที่พนักงาน Work From Home ไม่เห็นหน้าค่าตา แล้วบริษัทจะวัด Productivity ได้อย่างไร การทำงานที่ออฟฟิศกับที่บ้านเเบบไหนได้งานกว่ากัน

คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

1 คำตอบ

  • Pisara Lumpukdee (Vandy)
    Pisara Lumpukdee (Vandy)
    19 มีนาคม 2021 00:41 น.
    ในประเด็นนี้ขอตอบในเชิงเศรษฐศาสตร์แรงงานก่อนว่า productivity เกิดจาก inputs ต่างๆที่ใส่เข้าไป โดยหลักๆก็คือ เครื่องมือ และ แรงงาน 
     
     ในส่วนของเครื่องมือ เราต้องกลับไปถามองค์กรก่อนว่ามีความพร้อมในการ WFH แค่ไหน เช่นระบบในองค์กรสามารถรองรับการทำงานแบบ remote หรือ WFH ได้หรือไม่ อย่างในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ หลายองค์กรมีความพร้อมมากในเรื่องของระบบที่จะให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน แต่ในขณะที่ยังมีอีกหลายองค์กรกลับสะดุดและลำบากใจกับการ WFH เพราะมีระบบหลายๆอย่างที่ไม่รองรับ และทำให้ธุรกิจหยุดชะงักหากพนักงานจะต้องทำงานจากที่บ้าน เช่นพนักงานไม่มี computer laptop หรือแม้กระทั่งองค์กรอาจเป็นห่วงประเด็นเรื่อง security ของข้อมูลต่างๆ หรือความลับทางธุรกิจ (confidential information and trade secrets) ซึ่งหากพิจารณาดูองค์กรใหญ่ๆในฝั่งตะวันตก ปัญหาในการ WFH จะมีน้อย แถมหลายๆองค์กรยังสนับสนุนเรื่อง WFH ก่อนจะมีสุานการณ์โควิดด้วยซ้ำ เนื่องจากองค์กรในฝั่งตะวันตกมีระบบที่รองรับการทำงานแบบ remote และยังมีการลงระบบ security เพื่อป้องกันการ hack ข้อมูลในรูปแบบต่างๆไว้อยู่แล้ว
     
     ดังนั้น หากจะพูดถึง productivity เราก็ต้องพิจารณาเครืองมือ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยว่าองค์กรมีพร้อมพอให้คนของเราพร้อมรบนอกสนามหรือไม่ หรือมีอุปกรณ์การทำงานที่อำนวยความสะดวกพอเทียบเท่ากับการทำงานในออฟฟิศหรือไม่
     
     ต่อมา ปัจจัยเรื่องของ"คน" หรือ "แรงงาน" ต่อ productivity จริงๆแล้วถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์แรงงาน หากเราสามารถควบคุมปัจจัยของเครื่องมือในการทำงานให้คงที่ กล่าวคือ ปัจจัยเครื่องมือสามาถอำนวยความสะดวกได้เหมือนเดิมไม่ต่างจากการทำงานในออฟฟิศแล้ว หากใช้พนักงานจำนวนเท่าเดิมก็ไม่น่ามีผลต่อปริมาณหรือคุณภาพของงานแต่อย่างใด
     
     อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนของการจัดการมนุษย์อยู่ตรงประเด็นที่ว่า มนุษย์ใช้แรงจูงใจในการผลักดันผลผลิตด้วย ดังนั้นในจุดนี้ ระบบ performance management system หรือ evaluation mechanism จึงเป็นสิ่งสำคัญและเข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจน กล่าวคือหากมีการวางระบบ performance management อย่างถูกต้อง วัดผลงานเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน (ตามหลัก S.T.A.R.) และมีแรงจูงใจที่มากพอที่จะทำให้พนักงานไปสู่เป้าหมายหนึ่งๆ การทำงานในสถานที่ใด (จะเป็นบ้าน ที่ทำงาน หรือร้านกาแฟ) ย่อมไม่ใช่ประเด็น เพราะพนักงานจะพยายามสร้างผลงานให้ตรงตามเป้าหมายตาม KPI หรือ OKR ที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน 

    อย่าลืมว่าเสมอว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับแรงจูงใจและต้องมีกลไกที่มีความยุติธรรมและวัดผลได้ด้วย ระบบดังกล่าวจึงจะมีประสิทธิภาพในการควบคุม productivity นอกจากนี้ ในหลายๆองค์กรในฝั่งตะวันตกยังค้นพบว่า บางครั้งการ WFH กลับทำให้ได้ productivity มากกว่าการทำงานที่ออฟฟิศด้วยซ้ำ เพราะพนักงานไม่ต้องเผชิญกับรถติด และไม่สูญเสียแรงในการเดินทาง และยังมีความผ่อนคลายในการทำงานอีกด้วย และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ Google ในอเมริกา และอีกหลายๆองค์กร พยายามสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความไม่เป็นทางการและเหมือนบ้านมากที่สุด 
     
    กล่าวโดยสรุป การจะเปรียบเทียบว่าทำงานที่ไหนได้ productivity มากกว่ากัน ก็คงต้องดูที่ปัจจัยทั้ง2 ที่กล่าวมาเป็นหลัก หากเครื่องมือที่องค์กรมีความพร้อมกว่า อำนวยสะดวกในการทำงานได้มากกว่า การทำงานในที่ทำงานก็อาจได้ประสิทธิภาพกว่า แต่อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพในเชิงผลผลิตหรือ productivity ที่มาจากปัจจัยของคน จึงต้องพิจารณาเรื่องกลไกของการวัดผลหรือการประเมินผลงานด้วย ถ้ากลไกดีพอ ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน พนักงานย่อมต้องการและพยายามบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ต่างกัน 
     
     
    0

    คัดลอก URL เรียบร้อยแล้ว!

    ขอบคุณสำหรับข้อมูล

อันดับผู้ให้ข้อมูล